วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ข่าวล่าสุด ประจำเดือน สิงหาคม

ยุคชีวิตติดแอพ...คนไทยแห่ท่องเน็ตเกือบวันละ 5 ชม.

ยุคนี้มองไปทางไหนก็เห็นผู้คนก้มหน้าก้มตากดโทรศัพท์มือถือ ทั้งบนโต๊ะอาหาร บนท้องถนน แม้กระทั่งบนรถไฟฟ้า ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นท่าทีแปลกๆ ของคนที่กำลังท่องโลกออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ บางครั้งบางทีเราจะเห็นคนยิ้มกับตัวเองบ่อยๆ

พฤติกรรมของคนยุคใหม่ ที่อยู่ในโลกส่วนตัวและโลกออนไลน์ในมือ ทำให้ย้อนนึกถึงวลีเก่าๆ ที่ว่า “สื่อสารกับคนรอบข้างบ้าง” ที่ยังคงใช้ได้ดีในเวลานี้

ผลสำรวจล่าสุดของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที พบว่าปัจจุบันคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยสัปดาห์ละ 32 ชั่วโมง หรือเฉลี่ยวันละ 4.6 ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจาก 12 ปี ที่แล้วถึง 76%ผลสำรวจยังพบว่า คนไทยท่องโลกอินเทอร์เน็ต ผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ อย่างสมาร์ทโฟนมากที่สุดถึง 69.5% รองลงมาคือ โน้ตบุ๊ก 67.9% และแท็บเลต 35.3% เพียงเท่านี้ก็พิสูจน์ได้แล้วว่า คนไทยติดเน็ต ติดแอพมากแค่ไหน!!

แห่ซื้อแพคเกจเน็ตผ่านมือถือ

อีกสิ่งหนึ่งที่การันตีได้ดีว่า คนไทยต้องมีโลกออนไลน์ไว้ข้างกายเสมอๆ  คือ ข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ของ 3 ค่าย มือถือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส, บริษัท โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด พบว่าทุกค่ายมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น

เอไอเอส มีผู้ใช้งาน 13 ล้านราย เฉลี่ยการใช้งาน 300 เมกะบิท ต่อคนต่อเดือน แพคเก็จที่นิยมใช้งานมากที่สุด คือ อัลลิมิเตดดาต้า ไอสมาร์ท 399 บาท

ส่วนดีแทค เฉลี่ยยอดใช้งาน 1 กิกะบิทต่อคนต่อเดือน แพจเกจที่นิยมใช้งานมากที่สุด โพสเพดสมาร์ทโฟน ส่วนพรีเพดอยู่ที่ 399 บาท จำนวน 1 กิกะบิท

ขณะที่ ทรู ลูกค้าใช้งานอินเทอร์เน็ตค่อนข้างมาก อยู่ที่เกือบ 2 กิกะบิทต่อเดือนต่อคน ในทุกแพคเกจสมาร์ทโฟน 3G ขับเคลื่อนยอดใช้สมาร์ทโฟน


นางสาววอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้ง  thumbsup.in.th และผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท คอมพิวเตอร์โลจี้ เปิดเผยว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะประเทศไทย แต่ยังรวมถึงทั่วโลก


ปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ผู้คนทั่วโลก หันมาท่องเน็ตผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น ได้แก่ 1. ผู้ให้บริการ - โมบายโอเปอร์เรเตอร์ ทั้ง 3 รายเปิดให้บริการ 3จี อย่างเต็มตัว (เกิดการแข่งขันทั้งในเรื่องราคาและบริการ) เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยเฉพาะในโซนต่างจังหวัด 2. อุปกรณ์ - ราคาอุปกรณ์ สมาร์ทโฟนถูกลง พูดง่ายๆ คือไม่จำเป็นต้องเสียเงินจำนวนมาก ก็สามารถหาซื้อสมาร์ทโฟนได้แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และ 3. บริการต่างๆ และโซเชียลมีเดียมีส่วนผลักดัน - อย่าง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ มีส่วนผลักดันสูง

“เพื่อนเรามีตัวตน มีสังคมที่นั่น เรื่องราวต่างๆ ที่คนพูดถึงกันก็อยู่ที่นั่น และยุคนี้ต้องการความรวดเร็วฉับไว อุปกรณ์ที่อยู่ติดตัวเรา และสะดวกในการเข้าถึงโซเชียลมีเดียเหล่านี้ ก็คือ สมาร์ทโฟน ดังนั้นมันก็เสริมกันอยู่” นางสาวอรนุช กล่าว

มีการสำรวจด้วยว่า โซเชียลมีเดียที่นิยมใช้มากที่สุด คือ เฟซบุ๊ก 92.2% กูเกิล พลัส 63.7% และแอพลิเคชั่นแชท "ไลน์" 61.1% สาวกเน็ต ใช้โซเชียลมีเดียเหล่านี้ สำหรับการพูดคุยสูงถึง 85.7% ใช้อัพเดตข้อมูลข่าวสาร 64.6% และอัพโหลดแชร์รูปภาพหรือวิดีโอ 60.2%

อุปกรณ์ที่ใช้งาน 3 อันดับแรก ยังคงเป็นสมาร์ทโฟน 33.7% คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ 31.6% และโน้ตบุ๊ก 24.4%

ดูจากสถิติท่องโลกอินเทอร์เน็ต ที่หลายคนจมอยู่ในโลกออนไลน์นานหลายชั่วโมง อาจทำให้หลายคนมีคำถามว่า นอกเหนือจากการฝังตัวอยู่ในโลกโซเชียล ในสังคมออนไลน์ของแต่ละคนแล้ว คนไทยใช้เวลาของพวกเขาไปอย่างมีประโยชน์บ้างหรือไม่

ข้อมูลจากผู้ร่วมก่อตั้ง thumbsup.in.th ยังบอกด้วยว่า คนไทยใช้เน็ตมากที่สุดระหว่าง 2 ทุ่ม-เที่ยงคืน การใช้งานมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ การรับส่งอีเมล์ 54.4% ค้นคว้าข้อมูล 52.5% และใช้งานสังคมออนไลน์ 33.2% โดยผู้ใหญ่มักใช้รับส่งอีเมล์ แต่เด็กเน้นเล่นเกมออนไลน์ และดาวน์โหลด

เทคโนโลยีใกล้ชิดคนมากขึ้น การใช้งานที่ง่ายเพียงปลายนิ้ว และการพัฒนาแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนแต่ละกลุ่ม แต่ละเพศแต่ละวัย จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน เติบโตต่อเนื่องหลายเท่าตัว

แหล่งที่มา  http://www.thairath.co.th/content/tech/364122